7 ขั้นตอนพิธีสงฆ์ที่ควรรู้ในการจัดเลี้ยงพระ

4

การทำบุญด้วยการจัดเลี้ยงพระนั้นเป็นประเพณีของชาวพุทธในประเทศไทยที่มีการปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่ในสมัยอดีต ซึ่งมาถึงยุคปัจจุบันการทำบุญในรูปแบบนี้ก็ยังคงได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย เนื่องจากเชื่อว่าเป็นการทำบุญใหญ่ ได้บุญมาก แต่อาจจะมีหลายๆ คนยังไม่ทราบถึงรายละเอียดในเรื่องของขั้นตอนพิธีสงฆ์สำหรับการทำบุญในรูปแบบนี้ ซึ่งบทความนี้จะมาให้รายละเอียดในเรื่องของ 7 ขั้นตอนพิธีสงฆ์ที่ควรรู้ในการจัดเลี้ยงพระ

1. เริ่มต้นด้วยการนิมนต์พระ

สำหรับการเริ่มต้นของพิธีสงฆ์ในการจัดเลี้ยงพระนั้นคือการนิมนต์พระ ซึ่งการนิมนต์พระนั้นไม่ได้เป็นเรื่องยุ่งยากอย่างที่หลายๆ คนเข้าใจ การนิมนต์พระนั้นเพียงแค่เจ้าภาพไปติดต่อยังสำนักงานของวัดที่ต้องการ แล้วแจ้งประเภทของงานที่ต้องการเลี้ยงพระว่าจะจัดงานทำบุญประเภทไหน จัดงานวันที่เท่าไหร่ จัดเลี้ยงพระเช้า หรือพระเพล ต้องการนิมนต์พระสงฆ์เป็นจำนวนกี่รูป ทางวัดก็จะจัดการดูว่าในวันเวลาที่เจ้าภาพต้องการนั้นพระสงฆ์สะดวกที่จะรับกิจนิมนต์หรือไม่ 

ถ้าพระสงฆ์ในวัดสามารถรับกิจนิมนต์ได้ก็จะทำการนัดหมายในเรื่องของการเดินทางว่าในวันงานนั้นทางเจ้าภาพจะจัดรถมารับพระสงฆ์ที่วัด หรือจะให้พระสงฆ์เดินทางไปที่งานเอง แต่ถ้าพระสงฆ์ในวัดไม่สะดวกรับกิจนิมนต์เจ้าภาพก็อาจจะเลื่อนวันจัดงานออกไป หรือไปนิมนต์พระสงฆ์จากวัดอื่นแทน ซึ่งการนิมนต์พระนั้นควรเลือกจากวัดใกล้บ้านเป็นอันดับแรก เพราะว่าจะได้สะดวกในเรื่องของการเดินทาง แต่เจ้าภาพก็สามารถตัดสินใจเลือกนิมนต์พระสงฆ์จากวัดใดก็ได้ตามเหมาะสม

2. จัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับพิธีสงฆ์

การจัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับพิธีสงฆ์นั้นเป็นเรื่องที่เจ้าภาพต้องจัดเตรียมให้ครบถ้วน เพราะเมื่อถึงเวลางานแล้วนั้นจะได้ไม่เกิดความติดขัดนั่นเอง ซึ่งอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในพิธีสงฆ์นั้นได้แก่ พระพุทธรูป โต๊ะหมู่บูชา เชิงเทียน แจกันดอกไม้ กระถางธูป อาสนะพระ ตาลปัตร สายสิญจน์ บาตรน้ำมนตร์ เทียนทำน้ำมนตร์ ซึ่งสิ่งของต่างๆ เหล่านี้ถ้าทางเจ้าภาพนั้นสามารถที่จะขอยืมทางวัดที่ไปนิมนต์พระได้เลย ทางวัดส่วนมากจะมีให้อย่างครบถ้วน รวมไปถึงมีเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำในเรื่องของอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับทางฝ่ายเจ้าภาพอยู่แล้ว

3. จัดเตรียมสถานที่จัดเลี้ยงพระให้เหมาะสม

ขั้นตอนต่อไปสำหรับพิธีสงฆ์ในการรับจัดเลี้ยงพระนอกสถานที่นั่นคือการจัดเตรียมสถานที่สำหรับพิธีสงฆ์นั่นเอง โดยการจัดเตรียมสถานที่สำหรับพิธีสงฆ์นั้นควรเป็นสถานที่มีขนาดเหมาะสมที่จะรองรับพระสงฆ์ รวมไปถึงผู้ที่มาร่วมงานได้โดยแออัด ซึ่งบริเวณที่จะทำพิธีสงฆ์นั้นต้องมีการทำความสะอาด มีการจัดเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ไว้อย่างครบถ้วน 

โดยการเตรียมสถานที่นั้นจะเริ่มด้วยการตั้งโต๊ะหมู่บูชาโดยมีพระพุทธรูปเป็นประธานอยู่บนโต๊ะหมู่ โดยทิศทางการจัดโต๊ะหมู่บูชานั้นนิยมที่จะหันไปทางทิศตะวันออก หรือทิศเหนือ แต่ก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม แต่ต้องไม่หันหน้าไปทางมุมอับ และต้องไม่อยู่ใกล้ห้องน้ำ โดยโต๊ะหมู่นั้นจะอยู่ทางขวามือของที่นั่งสำหรับพระสงฆ์รูปแรก 

เมื่อจัดโต๊ะหมู่บูชาเรียบร้อยแล้วก็มาถึงการจัดเตรียมอาสนะพระ โดยพระสงฆ์ที่ได้รับนิมนต์มาจะนั่งตามลำดับบนอาสนะที่จัดเตรียมไว้ให้ โดยพระสงฆ์รูปแรกจะนั่งใกล้กับโต๊ะหมู่บูชา โดยการจัดอาสนะนั้นควรมีพรมปูพื้นก่อน แล้วจึงวางอาสนะ และต้องเว้นระยะห่างให้เหมาะสม ไม่ให้พระสงฆ์ต้องนั่งชิดกันจนเกินไป

4. ปฏิบัติตามขั้นตอนของพิธีสงฆ์

ในวันงานที่มีการจัดเลี้ยงพระนั้น เมื่อพระสงฆ์เดินทางมาถึงบริเวณงานให้เจ้าภาพนิมนต์พระสงฆ์ไปนั่งยังบริเวณที่จัดไว้ต้อนรับ หรือให้ไปนั่งในบริเวณที่จัดพิธีสงฆ์เลยก็ได้ เมื่อพระสงฆ์นั่งเรียบร้อยแล้วทางเจ้าก็จะถวายเครื่องดื่มให้กับพระสงฆ์ พอได้เวลาที่เหมาะสมโดยถ้าเป็นการเลี้ยงพระเพลจะอยู่ที่ประมาณ 10.00 น. ก็จะเริ่มพิธีสงฆ์ 

การเริ่มพิธีสงฆ์นั้นเจ้าภาพ หรือตัวแทนฝ่ายเจ้าภาพจะจุดเทียนบูชาพระรัตนตรัยที่โต๊ะหมู่บูชา เริ่มต้นที่เทียนทางด้านขวาของพระพุทธรูปก่อน มาจุดเทียนทางด้านซ้าย จุดธูป จากนั้นกราบพระพุทธ 3 ครั้ง แล้วจึงกล่าวบทบูชาพระรัตนตรัย โดยผู้ร่วมพิธีกล่าวตาม จากนั้นกล่าวคำอาราธนาศีล 5 เมื่ออาราธนาศีลจบพระสงฆ์จะกล่าวพระไตรสรณะคมน์ กล่าวสมาทานศีล โดยให้ผู้ร่วมงานกล่าวตาม เมื่อจบการสมาทานศีลแล้วทางเจ้าภาพก็จะกล่าวอาราธนาพระปริตร เมื่อกล่าวจบพระสงฆ์ก็จะเริ่มสวดเจริญพระพุทธมนต์ 

ในขณะที่พระสงฆ์กำลังสวดเจริญพระพุทธมนต์นั้นเมื่อพระสงฆ์สวดถึงคำว่า “อเสวนา จ พาลานัง” ให้ทางเจ้าภาพจุดเทียนสำหรับทำน้ำพระพุทธมนต์ จากนั้นเมื่อพระสงฆ์สวดเจริญพระพุทธมนต์เรียบร้อยแล้วนั้นทางเจ้าภาพก็จะถวายข้าวพระพุทธ โดยกล่าวคำถวายข้าวพระพุทธ ซึ่งถาดข้าวพระพุทธนั้นจะวางบนโต๊ะที่จัดแยกไว้ หรือจะวางด้านข้างของโต๊ะหมู่บูชาก็ได้ แต่ต้องจัดวางให้สูงกว่าอาสนะของพระสงฆ์

5. ถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์

เมื่อถวายข้าวพระพุทธเรียบร้อยแล้วก็ถึงขั้นตอนการประเคนภัตตาหารให้กับพระสงฆ์ที่นิมนต์มาจัดเลี้ยงพระนั่นเอง โดยการถวายภัตตาหารนั้นจะนิมนต์พระสงฆ์ไปยังบริเวณที่ได้จัดเตรียมไว้เป็นสถานที่ฉันอาหารของพระสงฆ์ หรือจะถวายให้พระสงฆ์ฉันบนอาสนะเลยก็ได้ โดยการถวายอาหารแก่พระสงฆ์นั้นสามารถแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบคือการจัดเลี้ยงแบบฉันวง กับการจัดเลี้ยงแบบฉันโตก 

ซึ่งการจัดเลี้ยงแบบฉันวงนั้นจะนิมนต์พระสงฆ์มายังสถานที่จัดเตรียมไว้ โดยให้พระสงฆ์นั่งเป็นวงตามความเหมาะสมแล้วจึงถวายภัตตาหารเป็นชุดให้พระสงฆ์ฉันร่วมกันภายในวงนั่นเอง ส่วนการจัดเลี้ยงแบบฉันโตกนั้นจะนิมนต์พระสงฆ์มาในบริเวณที่จัดเตรียมไว้ หรือให้ฉันอาหารบนอาสนะเลยก็ได้ ซึ่งการถวายอาหารในรูปแบบนี้จะเป็นการถวายอาหารเป็นสำรับเฉพาะแต่ละรูป ไม่ได้เป็นการฉันรวมกัน โดยจะจัดเป็นสำรับขนาดเล็กตามจำนวนพระสงฆ์ที่นิมนต์มานั่นเอง การจัดเลี้ยงอาหารแก่พระสงฆ์นั้นทางเจ้าภาพสามารถเลือกรูปแบบใดก็ได้ตามความเหมาะสม

6. เตรียมการถวายสังฆทาน

เมื่อพระสงฆ์ฉันอาหารเรียบร้อยแล้ว ทางเจ้าภาพก็จะนิมนต์พระสงฆ์กลับมายังอาสนะ ซึ่งจะต้องมีการเตรียมดอกไม้ ธูปเทียนสำหรับถวายพระสงฆ์วางไว้ให้เรียบร้อยด้านหน้าของอาสนะ โดยวางให้ทางด้านดอกหันไปทางขวามือของพระสงฆ์ จากนั้นเจ้าภาพจะกล่าวคำลาข้าวพระพุทธ แล้วจึงกล่าวคำถวายสังฆทาน รวมไปถึงถวายจตุปัจจัยอื่นๆ ที่ได้เตรียมไว้แก่พระสงฆ์ เมื่อพระสงฆ์รับถวายสังฆทานแล้วก็จะสวดอนุโมทนา เจ้าภาพ และผู้ร่วมงานก็จะทำการกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญส่วนกุศล

7. พิธีประพรมน้ำพระพุทธมนต์

การประพรมน้ำพระพุทธมนต์นั้นเรียกว่าเป็นพิธีมงคลที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับการจัดเลี้ยงพระ เพราะทางเจ้าภาพส่วนมากมีความเชื่อว่าน้ำพระพุทธมนต์ที่ได้จัดทำขึ้นระหว่างการสวดเจริญพระพุทธมนต์นั้นเป็นสิ่งที่จะช่วยสร้างความเป็นสิริมงคลให้กับผู้ที่ได้รับ การประพรมน้ำพระพุทธมนต์นั้นจะเริ่มภายหลังที่ทำการกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลเรียบร้อยแล้ว โดยประธานฝ่ายสงฆ์จะเป็นผู้ดำเนินการประพรมน้ำพระพุทธมนต์ในขณะที่พระสงฆ์รูปอื่นๆ จะสวดชยันโตฯ อันเป็นบทสวดมหามงคล 

ถ้าเป็นการจัดเลี้ยงพระสำหรับการทำบุญขึ้นบ้านใหม่อาจจะมีการนิมนต์ให้เจิมส่วนต่างๆ ของบ้านเพื่อเป็นสิริมงคลในระหว่างที่ประธานฝ่ายสงฆ์ทำการประพรมน้ำพระพุทธมนต์ และพระสงฆ์ที่เหลือทำการสวดชยันโตฯ อยู่นั่นเอง เมื่อเสร็จสิ้นพิธีประพรมน้ำพระพุทธมนต์แล้วทางเจ้าภาพก็จะส่งพระสงฆ์ที่นิมนต์มากลับวัด เพียงเท่านี้ก็จะเป็นการเสร็จสิ้นพิธีสงฆ์สำหรับการจัดเลี้ยงพระ

จากบทความนี้จะเห็นได้ว่าการพิธีสงฆ์สำหรับการจัดเลี้ยงพระนั้นมีขั้นตอนต่างๆ ที่ไม่ได้ซับซ้อนวุ่นวายอย่างที่หลายๆ คนคิด จากรายละเอียดต่างๆ ที่ได้แนะนำไว้ในบทความเรื่อง “7 ขั้นตอนพิธีสงฆ์ที่ควรรู้ในการจัดเลี้ยงพระ” เชื่อว่าจะช่วยให้ผู้ที่ต้องการจัดเลี้ยงพระในโอกาสต่างๆ สามารถนำไปใช้งานได้อย่างแน่นอน

สอบถามรายละเอียดที่นี่