8 สิ่งพึงระวังในการจัดเลี้ยงพระที่บ้าน

การจัดเลี้ยงพระทำได้หลากหลายโอกาส เช่น การทำบุญขึ้นบ้านใหม่ งานทำบุญวันเกิด งานแต่งงาน บ่อยครั้งเจ้าภาพก็จัดเลี้ยงพระที่บ้านเพราะเป็นสถานที่ที่คนในครอบครัวรวมตัวกันได้สะดวก และเป็นการเพิ่มความเป็นสิริมงคลให้กับบ้านอีกด้วย บางครั้งเจ้าภาพอาจจะห่วงว่าการจัดเลี้ยงพระที่บ้านจะเป็นไปอย่างราบรื่นหรือไม่ บทความนี้จึงมาแนะนำ 9 สิ่งพึงระวังในการจัดเลี้ยงพระที่บ้านเพื่อความสบายใจไร้กังวล

1. ไม่ตั้งโต๊ะหมู่บูชาในมุมอับ

สิ่งสำคัญอันดับแรกในการจัดเลี้ยงพระที่บ้านคือการกำหนดตำแหน่งของโต๊ะหมู่บูชา พร้อมทั้งเครื่องบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคล โต๊ะหมู่บูชาควรตั้งทางขวามือของพระสงฆ์และในงานพิธีมงคลทั่วไปจะนิยมใช้พระพุทธรูปปางสมาธิประดิษฐานบนโต๊ะหมู่บูชา แต่ถ้าเป็นงานพิธีทำบุญวันเกิดหรือทำบุญอายุจะนิยมใช้พระพุทธรูปปางประจำวันเกิดของเจ้าของงาน สิ่งสำคัญในการเลือกสถานที่ตั้งโต๊ะหมู่บูชาคือหลีกเลี่ยงการหันโต๊ะหมู่บูชาไปทางทิศตะวันตก และไม่ควรตั้งไว้บริเวณมุมอับของบ้าน เช่นข้างห้องเก็บของ หรือห้องน้ำ นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีการเดินผ่านไปผ่านมาตลอดเวลา ข้อควรระวังอีกอย่างหนึ่งคือควรทำความสะอาดโต๊ะหมู่บูชาให้สะอาดหมดจด ไม่มีฝุ่นจับหนาบริเวณโต๊ะ และดูแลเครื่องบูชาต่าง ๆ ให้ครบถ้วน มีเชิงเทียนที่ทำจากโลหะหรือกระเบื้อง 1 คู่ กระถางธูป 1 อัน พานพุ่มหรือแจกันดอกไม้สด โดยระวังไม่ให้เครื่องบูชาต่าง ๆ วางไว้เสมอหรือสูงกว่าพระพุทธรูป และเจ้าภาพควรตรวจสอบให้มีการติดเทียนใหม่ 2 เล่มและปักธูปใหม่จำนวน 3 ดอกเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเริ่มพิธี

2. ไม่จัดภัตตาหารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพแด่พระสงฆ์

การนิมนต์พระมาฉันอาหาร ระวังอย่าเอ่ยชื่ออาหารที่จะถวายแด่พระสงฆ์ในวันนั้น แต่ให้กล่าวนิมนต์ให้พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์และฉันภัตตาหารเช้า หรือฉันภัตตาหารเพลตามเวลาที่เจ้าภาพสะดวก และในการจัดเลี้ยงพระเจ้าภาพอาจจะประกอบอาหารเองหรือจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดอาหารเลี้ยงพระมาที่บ้าน อย่างไรก็ตามไม่ควรเลือกอาหารที่ผิดข้อบังคับของศาสนา หรืออาหารที่มีรสจัดเกินไป อาหารที่ไม่สุก มีรสหวานหรือมันเกินไป ซึ่งอาจเกิดผลเสียต่อสุขภาพโดยรวมของพระสงฆ์ ควรคำนึงถึงคุณค่าทางโภชนาการเป็นสำคัญมากกว่าอาหารราคาแพง หรืออุดมด้วยสารปรุงแต่ง นอกจากนี้เจ้าภาพต้องไม่ลืมเตรียมอาหารเพื่อบูชาพระพุทธรูปหน้าโต๊ะหมู่บูชา รวมถึงจัดอาหารถวายพระภูมิเจ้าที่ในบ้านอีกด้วย 

นอกจากนี้สถานที่ฉันอาหารของพระสงฆ์ควรแยกเป็นสัดส่วน และต้องคำนึงถึงความสะอาด อากาศถ่ายเทสะดวก และมีพื้นที่ให้ฝ่ายเจ้าภาพและแขกประเคนได้สะดวก มีอุปกรณ์ในการรับประทานอาหาร กระดาษเช็ดมือและที่ทิ้งขยะจัดเตรียมไว้อย่างครบถ้วน

3. ไม่จัดที่รับรองพระสงฆ์ในบริเวณพลุกพล่าน

การจัดเลี้ยงพระที่บ้านต้องมีการจัดสถานที่สำหรับรับรองพระสงฆ์อยู่ในมุมที่สะอาด สบายตา ไม่อยู่ในที่พลุกพล่าน เช่น ติดกับประตูทางเข้าออกครัวหรือห้องเก็บของ และไม่ควรจัดที่นั่งให้อยู่ในระดับเดียวกับที่นั่งของแขกที่มาในงาน หากเลี่ยงไม่ได้อาจปูเสื่อและวางอาสนะให้ครบจำนวนพระสงฆ์เพื่อทำให้ระดับอาสนะสูงขึ้น นอกจากนี้ควรทำความสะอาดบริเวณสถานที่รับรองพระสงฆ์ให้เรียบร้อย และระวังไม่ให้มีรูปภาพหรือชั้นวางของเหนือศีรษะ เพื่อป้องกันสิ่งของหล่นลงมาบริเวณที่พระสงฆ์นั่งอยู่ได้ สิ่งที่ขาดไม่ได้อีกอย่างหนึ่งคือกระโถน เพราะเมื่อพระสงฆ์เมื่อมาถึงสถานที่ทำพิธีจะไม่สามารถลุกไปทิ้งสิ่งที่ไม่ต้องการแล้วได้สะดวก จึงต้องมีกระโถนวางเบื้องหน้าพระสงฆ์แต่ละรูป และเมื่อพระสงฆ์มาถึงบ้านเจ้าภาพต้องจัดเตรียมเครื่องรับรองต่าง ๆ เช่นน้ำร้อนหรือชาร้อน และน้ำเย็นให้แด่พระสงฆ์ด้วย

4. ไม่ลืมจัดอุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดเลี้ยงพระล่วงหน้า

เจ้าภาพควรเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นในการจัดเลี้ยงพระ เช่น ที่กรวดน้ำ ธูป เทียน พานรองสายสิญจน์ ขันน้ำมนต์ ไว้ล่วงหน้าโดยการขอยืมจากวัดที่เราทำการนิมนต์พระสงฆ์มาทำพิธีเพราะจะช่วยประหยัดงบประมาณ ไม่ต้องซื้อใหม่ทั้งหมด เจ้าภาพควรตรวจสอบรายการของที่ต้องเตรียม เทียบกับสิ่งที่มีอยู่แล้วที่บ้านเพื่อดูว่ามีอุปกรณ์ต่าง ๆ ครบถ้วนหรือไม่ และรีบติดต่อทางวัดเพื่อจองอุปกรณ์ต่าง ๆ ไว้ล่วงหน้าเพราะในบางครั้งเวลาที่มีฤกษ์ดีก็มักจะมีพิธีหลายที่ สิ่งของที่เราต้องการใช้อาจจะถูกจองจนหมด ทำให้ต้องเสียเวลาหรือสิ้นเปลืองงบประมาณในการหาซื้อใหม่

5. ไม่วงสายสิญจน์ผิดหลักศาสนพิธี

การเตรียมการใช้สายสิญจน์มีหลากหลายแบบ หากเป็นการทำบุญบ้านใหม่ ในการวงด้ายสายสิญจน์ ให้เริ่มวงตั้งแต่โต๊ะหมู่บูชา โดยตรวจสอบให้การวงสายสิญจน์วนตามเข็มนาฬิการอบรั้วบ้าน นอกจากนี้ไม่ควรให้ด้ายสายสิญจน์ห้อยละพื้น เพื่อป้องกันการเดินข้ามหรือทำขาด จากนั้นจึงวงมาที่ฐานพระพุทธรูปแล้วไปที่ภาชนะใส่น้ำมนต์แล้ววางกลุ่มด้ายสายสิญจน์ไว้ในพานด้านซ้ายของโต๊ะหมู่บูชา หากเป็นพิธีทำบุญที่มีการทอดบังสุกุลหรือเชิญโกศบรรพบุรุษมาด้วย เจ้าภาพควรเตรียมด้ายสายสิญจน์อีกกลุ่มหนึ่งไว้ใช้ขณะที่พระสงฆ์พิจารณาบังสุกุล แยกจากกลุ่มที่ใช้สวดมนต์ และอย่าลืมเตรียมพานรองสายสิญจน์เอาไว้อีกอันหนึ่งเพื่อวางเบื้องหน้าพระสงฆ์รูปสุดท้ายด้วย

6. ดูแลเอาใจใส่ในการจัดสถานที่สำหรับแขกในงาน

ในงานจัดเลี้ยงพระควรจัดให้มีบริเวณที่นั่งสำหรับผู้มาร่วมงานหรือผู้ที่มาช่วยงานให้เป็นสัดส่วน ที่นั่งของแขกในงานไม่ควรอยู่ในระดับสูงกว่าที่นั่งของพระสงฆ์ นอกจากนี้ควรมีการเตรียมเก้าอี้ไว้จำนวนหนึ่งสำหรับรับรองแขกผู้สูงอายุที่ไม่สามารถนั่งที่พื้นได้ โดยรักษาระยะให้ห่างออกไปจากบริเวณที่พระสงฆ์นั่ง นอกจากนี้ควรจัดให้มีที่ทิ้งขยะอย่างทั่วถึงเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย และการจัดเลี้ยงพระมักจะมีอาหารบางส่วนที่เหลืออยู่หลังจากถวายภัตตาหาร เจ้าภาพจึงควรเตรียมถุงพลาสติกและอุปกรณ์ในการใส่อาหารเช่นถุงร้อน ยางวงรัดของ เพื่อเตรียมตักอาหารและขนมเพื่อมอบให้แขกผู้มาร่วมงานกลับไปรับประทาน ในบางกรณี อาจมีของที่ระลึกเช่น ขนมกล่องเล็ก ๆ มอบให้แขกที่มาในงานก่อนกลับบ้านเพื่อสร้างความประทับใจ

7. ไม่วางเครื่องปัจจัยไทยธรรมในที่ประเคนไม่สะดวก

เครื่องจตุปัจจัยเครื่องไทยธรรม คือปัจจัย 4 หรือของอุปโภคบริโภคต่าง ๆ ซึ่งจะต้องจัดเตรียมเพื่อถวายแด่พระสงฆ์  ควรจัดให้ครบจำนวนพระสงฆ์ที่นิมนต์มาที่บ้าน เจ้าภาพควรดูแลความสะอาดและความกว้างของพื้นที่ให้เหมาะสมเพื่อที่จะจัดการประเคน และก่อนถวายเครื่องไทยธรรมควรดูแลความสะอาดบริเวณที่จัดประเคนให้เรียบร้อย ไม่ให้มีสิ่งสกปรกหรือมีน้ำหกอยู่บนพื้นที่อันเป็นเหตุให้เปื้อนที่ย่ามของพระสงฆ์ในขณะถือกลับวัด วิธีประเคนเครื่องไทยธรรมให้ถูกต้องคือวางดอกไม้หันเข้าหาพระสงฆ์ เพื่อแสดงความเคารพระหว่างการถวายเครื่องไทยธรรม

8. เตรียมความพร้อมด้านพิธีการ

ในวันงานเจ้าภาพและผู้ที่มาร่วมงานจัดเลี้ยงพระควรแต่งกายสุภาพเรียบร้อย เหมาะสมตามกาลเทศะระมัดระวังไม่สวมกระโปรงสั้นหรือกางเกงขาสั้น หรือสวมเสื้อที่เผยผิวจนเกินงาม เจ้าภาพควรร่างกำหนดการไว้ด้วยเนื่องจากบางงานจะมีเรื่องของฤกษ์ยามเข้ามาเกี่ยวข้อง ควรเลือกมัคนายกมืออาชีพเพราะเป็นผู้ที่จะช่วยนำพิธีและนำสวดมนต์บทต่าง ๆ ให้เป็นไปอย่างถูกต้อง โดยเจ้าภาพอาจศึกษาเองแล้วนำมาปรับใช้หรือขอความช่วยเหลือจากผู้ที่มีประสบการณ์มาเป็นมัคนายกในพิธี หรือจ้างบริษัทรับจัดงานทำบุญมาช่วยดูแลโดยเฉพาะเพื่อความสะดวก

จะเห็นว่าเมื่อปฏิบัติตามข้อควรระวังในการจัดเลี้ยงพระที่บ้านในบทความนี้ก็จะทำให้งานเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่มีพลาดแน่นอน การจัดเลี้ยงพระที่บ้านสามารถจัดการเองในหมู่ญาติพี่น้อง เพื่อเป็นการเพิ่มความกลมเกลียวในหมู่ญาติ และทำให้ทุกคนในครอบครัวเกิดความอิ่มใจกันถ้วนหน้า หรืออาจใช้บริการจากธุรกิจรับจัดเลี้ยงพระก็ช่วยเพิ่มความสะดวกให้เจ้าภาพได้อย่างดียิ่ง

สอบถามรายละเอียดที่นี่