8 เคล็ดลับเพื่อการทำบุญบ้านอย่างถูกวิธี

ทำบุญบ้าน 1

การทำบุญบ้านนั้นเป็นกิจกรรมทางศาสนาอีกหนึ่งกิจกรรมที่ได้รับความนิยมมากสำหรับผู้ที่นับถือศาสนาพุทธในประเทศไทย เพราะมีความเชื่อว่าเป็นพิธีกรรมที่จะช่วยเสริมสิริมงคลให้กับผู้พักอาศัยภายในบ้านหลังนั้น และช่วยปัดเป่าสิ่งไม่ดีให้ออกไปจากที่พักอาศัย อีกทั้งยังเป็นการแสดงตนว่าเป็นชาวพุทธที่ดี ในบทความนี้จะมาแนะนำถึง 8 เคล็ดลับการทำบุญบ้านอย่างถูกวิธี

1. กำหนดวันที่เหมาะสม  

การกำหนดวันที่เหมาะสมนั้นเรียกได้ว่าเป็นขั้นตอนแรกสำหรับการทำบุญบ้าน เพราะว่าการเลือกวันนั้นก็มีความสำคัญไม่น้อย เนื่องจากหลายๆ คนยังมีความเชื่อในเรื่องของฤกษ์มงคล / วันมงคล ว่าถ้าทำบุญใหญ่ในวันที่เป็นมงคลจะช่วยเสริมสิริมงคลในชีวิตได้มากยิ่งขึ้น แต่อีกหลายคนๆ นิยมที่จะเลือกวันที่ความสะดวกมากที่สุดอย่างเช่นวันหยุดในการทำบุญบ้าน ก็เป็นเรื่องที่สามารถทำได้โดยไม่ผิดแต่อย่างใด

เคล็ดลับสำหรับการกำหนดวันทำบุญบ้านคือควรมีวันสำรองไว้ด้วย เพราะถ้าวันที่กำหนดไว้ไม่สามารถจัดงานได้ อาจจะเป็นเพราะพระสงฆ์ที่ต้องการไปนิมนต์เพื่อมาเจริญพระพุทธมนต์ไม่ว่าง ก็จะได้มีวันสำรองเพื่อจะได้นิมนต์พระได้ทันทีโดยไม่ติดขัด  

2. นิมนต์พระ

เมื่อกำหนดวันที่จะทำบุญบ้านได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปที่ต้องจัดการคือเรื่องของการนิมนต์พระ โดยการทำบุญบ้านนั้นนิยมนิมนต์พระเป็นจำนวนเลขคี่ คือ 1 รูป 3 รูป 5 รูป 7 รูป 9 รูป ซึ่งจำนวนของพระที่จะนิมนต์มาเจริญพระพุทธมนต์สำหรับการทำบุญบ้านนั้นให้ขึ้นอยู่กับความสะดวกของเจ้าภาพเป็นสำคัญ

โดยส่วนมากถ้าบ้านมีพื้นที่เพียงพอจะนิยมนิมนต์พระสงฆ์เป็นจำนวน 9 รูป โดยการนิมนต์พระก็ไม่ยุ่งยาก เพียงแค่ไปแจ้งความต้องการที่สำนักงานของวัด โดยต้องแจ้งรายละเอียดของงานให้ครบถ้วน ว่าจะนิมนต์พระสงฆ์กี่รูป ไปงานอะไร ที่ไหน วันที่เท่าไหร่ เวลาอะไร จะมีรถมารับพระสงฆ์หรือไม่ หรือจะให้เดินทางไปเอง

เคล็ดลับของการนิมนต์พระสงฆ์คือควรนิมนต์พระสงฆ์จากวัดใกล้บ้านเพื่อที่จะได้สะดวกในการเดินทาง แต่การนิมนต์พระสงฆ์จากวัดที่เจ้าภาพมีความผูกพัน หรือมีความศรัทธาถึงแม้จะอยู่ไกลก็สามารถทำได้

3. จัดเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็น

การทำบุญบ้านนั้นจำเป็นที่จะต้องมีอุปกรณ์สำหรับประกอบพิธีสงฆ์ ซึ่งอุปกรณ์สำหรับพิธีสงฆ์นั้นได้แก่ โต๊ะหมู่บูชา พระพุทธรูป อาสนะพระ เชิงเทียน กระถางธูป ขันน้ำมนต์ แจกันดอกไม้ สายสิญจน์ ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้ส่วนมากเจ้าภาพจะมีไม่ครบ ซึ่งก็สามารถหยิบยืมจากทางวัดได้ เพราะแทบทุกวัดจะมีอุปกรณ์สำหรับพิธีสงฆ์ให้ยืมอย่างครบถ้วน

เคล็ดลับสำหรับการจัดเตรียมอุปกรณ์คือควรติดต่อขอยืมในวันเดียวกับที่ไปนิมนต์พระ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา อีกทั้งยังควรขอคำแนะนำในเรื่องอุปกรณ์พิธีสงฆ์จากทางวัดให้เรียบร้อย เพื่อที่จะได้จัดเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ได้อย่างครบถ้วน ส่วนอุปกรณ์เบ็ดเตล็ดอย่างเช่นธูป เทียน สายสิญจน์ เจ้าภาพสามารถหาซื้อได้จากร้านขายสังฆภัณฑ์ทั่วไป

4. จัดเตรียมอาหาร

การทำบุญบ้านนั้นสิ่งที่เป็นจุดเด่นของงานอีกหนึ่งอย่างคือเรื่องของอาหาร เพราะด้วยวัฒนธรรมของไทยนั้นจะขาดเรื่องอาหารการกินไม่ได้เลย โดยการเตรียมอาหารสำหรับการทำบุญบ้านนั้นควรคำนึงถึงพระสงฆ์ที่ถูกนิมนต์มาด้วย เพราะว่าการถวายอาหารแก่พระสงฆ์นั้นจำเป็นต้องใส่ใจมากพอสมควร เนื่องจากความเชื่อในการทำบุญนั้นต้องถวายอาหารที่ดีที่สุดที่จัดเตรียมไว้ให้กับพระสงฆ์นั่นเอง ซึ่งอาหารที่เหมาะสำหรับถวายให้พระสงฆ์ฉันนั้นไม่ใช่อาหารที่มีราคาแพง แต่ควรเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ มีรสชาติที่อร่อย ฉันได้ง่าย ไม่ขัดต่อข้อห้ามของศาสนา ส่วนอาหารสำหรับแขกที่มาร่วมงานส่วนมากก็จะเป็นอาหารประเภทเดียวกันกับที่เตรียมไว้ถวายพระสงฆ์

เคล็ดลับในการจัดเตรียมอาหารสำหรับการทำบุญบ้านนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือต้องคำนวณปริมาณอาหารให้เพียงพอสำหรับทุกคนที่มาร่วมงาน ถ้าเจ้าภาพไม่สะดวกที่จะประกอบอาหารเองก็สามารถเลือกซื้อจากร้านอาหาร หรือใช้บริการจัดเลี้ยงเพื่อความสะดวกก็ได้

5. จัดเตรียมสถานที่

เมื่อใกล้ถึงวันงานทางเจ้าภาพก็จะต้องเริ่มการจัดเตรียมสถานที่ให้พร้อมสำหรับพิธีสงฆ์ และผู้ที่มาร่วมงาน ไม่ว่าจะเป็นการเก็บกวาดบ้านให้สะอาดเรียบร้อย กำหนดพื้นที่สำหรับทำพิธีสงฆ์ โดยนำอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับพิธีสงฆ์อย่างเช่น โต๊ะหมู่บูชา อาสนะ มาจัดวางให้เรียบร้อย

โดยการจัดวางโต๊ะหมู่บูชานั้นขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของสถานที่เป็นสำคัญ ไม่มีการกำหนดตายตัวว่าต้องหันไปในทิศทางไหน เพียงแต่ต้องตั้งในบริเวณที่สะอาด ไม่อยู่ใต้บันได ใกล้ห้องน้ำ หรือหันหน้าโต๊ะหมู่บูชาไปยังมุมอับ ส่วนอาสนะพระสงฆ์ก็จะจัดเรียงถัดไปจากโต๊ะหมู่บูชาทางด้านขวาเมื่อหันหน้าเข้าไปทางโต๊ะหมู่บูชานั่นเอง โดยการจัดวางอาสนะนั้นต้องมีระยะห่างที่เหมาะสมเพื่อให้พระสงฆ์สามารถวางสิ่งของต่างๆ อย่างเช่น ย่าม ตาลปัตร น้ำดื่ม ได้สะดวก

เคล็ดลับในการจัดเตรียมสถานที่คือถ้าไม่มีความมั่นใจในการจัดวางอุปกรณ์สำหรับพิธีสงฆ์ก็สามารถขอคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่ของวัดได้ และควรจัดเตรียมสถานที่ล่วงหน้าก่อนวันงาน 1 – 2 วัน เพื่อที่จะได้จัดการเรื่องรายละเอียดต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง

6. ปฏิบัติตามขั้นตอนของพิธีสงฆ์ให้ถูกต้อง

ในวันงานเมื่อพระสงฆ์มาถึงบ้านที่จัดงานทำบุญบ้านใหม่ ให้เจ้าภาพไปนิมนต์พระสงฆ์มานั่งยังอาสนะที่เตรียมไว้ พอได้เวลาที่เหมาะสมก็จะเริ่มพิธีสงฆ์ด้วยการที่เจ้าภาพจุดเทียนที่โต๊ะหมู่บูชา โดยเริ่มจากเทียนทางด้านขวา มาถึงเทียนทางด้านซ้าย และธูป ตามลำดับ จากนั้นเจ้าภาพจะกราบพระพุทธ กล่าวบูชาพระรัตนตรัย อาราธนาศีล 5 อาราธนาพระปริตร จากนั้นพระสงฆ์ก็จะเริ่มทำการเจริญพระพุทธมนต์ เมื่อพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์จบเจ้าภาพก็จะถวายข้างพระพุทธ จากนั้นก็จะประเคนอาหารที่เตรียมไว้แก่พระสงฆ์

เคล็ดลับของขั้นตอนนี้คือถ้าเจ้าภาพไม่แม่นยำในลำดับพิธี หรือไม่แม่นยำในบทสวด ก็สามารถให้ตัวแทนที่มีความชำนาญมาเป็นผู้ดำเนินพิธีแทนได้ ตัวแทนอาจจะเป็นญาติมิตร หรือเจ้าหน้าที่ของทางวัด แต่ถ้าไม่มีผู้ที่ชำนาญมาดำเนินพิธี พระสงฆ์ที่มาสวดพระพุทธมนต์ก็จะเป็นผู้ให้คำแนะนำ นำสวด รวมไปถึงบอกขั้นตอนต่างๆ ในการทำพิธีสงฆ์ให้แก่เจ้าภาพ

7. เตรียมสิ่งของถวายพระ

เมื่อพระสงฆ์ฉันอาหารเรียบร้อยแล้วก็จะมาถึงขั้นตอนในการถวายจตุปัจจัยแด่พระสงฆ์ ซึ่งได้แก่ดอกไม้ ธูปเทียน รวมไปถึงซองใส่ปัจจัย โดยในการทำบุญบ้านส่วนมากจะนิยมถวายสังฆทานด้วย โดยให้นำมาวางไว้บริเวณด้านหน้าของพระสงฆ์แต่ละรูป โดยดอกไม้ให้ปลายดอกหันไปทางขวามือของพระสงฆ์ จากนั้นให้เจ้าภาพกล่าวคำลาข้าวพระพุทธ ต่อด้วยกล่าวบทถวายสังฆทาน แล้วจึงถวายสังฆทานแด่พระสงฆ์ จากนั้นพระสงฆ์จะสวดอนุโมทนาเพื่อให้เจ้าภาพและผู้ร่วมงานได้กรวดน้ำอุทิศส่วนบุญส่วนกุศล เมื่อเสร็จแล้วพระสงฆ์จะสวดบทชยันโตฯ อันเป็นบทสวดเพื่อปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย พร้อมประพรมน้ำพระพุทธมนต์ ถ้าเป็นบ้านใหม่ก็อาจจะมีการเจิมส่วนต่างๆ ของบ้านเพื่อเป็นสิริมงคลด้วย

เคล็ดลับของการเตรียมสิ่งของถวายพระนั้น ถ้าต้องถวายสังฆทานไม่ควรใช้ถังสังฆทานสำเร็จรูป ควรเลือกซื้อสิ่งของต่างๆ มาเป็นสังฆทานเพื่อถวายพระสงฆ์ด้วยตัวเอง ซึ่งสิ่งของที่นิยมถวายพระสงฆ์ได้แก่ สบู่ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน ยาสระผม มีดโกน กาแฟ ชา เป็นต้น

8. คืนอุปกรณ์ให้ครบถ้วน

สำหรับการทำบุญบ้านที่ได้ยืมอุปกรณ์ต่างๆ มาจากวัด ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์สำหรับพิธีสงฆ์ หรืออุปกรณ์อื่นๆ เมื่อเสร็จงานเรียบร้อยแล้วควรทำความสะอาด ตรวจดูความเสียหาย ถ้ามีสิ่งของชำรุดเสียหาย ต้องซ่อมแซม หรือซื้อชิ้นใหม่เพื่อนำไปคืนให้กับทางวัด

เคล็ดลับสำหรับการคืนอุปกรณ์ให้กับทางวัดคือต้องมีบัญชีการยืมของจากทางวัดทุกครั้ง เพื่อที่จะได้นำไปคืนได้อย่างถูกต้อง

สำหรับ 8 เคล็ดลับในการทำบุญบ้านที่ทางเราได้มาแนะนำในบทความนี้เชื่อว่าจะช่วยให้ผู้ที่ต้องการทำบุญบ้าน แต่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร หรือไม่รู้ขั้นตอนต่างๆ ได้มีข้อมูลเพิ่มเติมมากยิ่งขึ้น และเพิ่มความเข้าใจว่าการทำบุญไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด อีกทั้งยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการจัดงานของตัวเองได้อย่างถูกต้องในอนาคต

สอบถามรายละเอียดที่นี่