การทำบุญบ้านจัดขึ้นเพื่อเสริมสิริมงคลให้กับบ้านใหม่ และหลาย ๆ คนก็เชื่อว่าการทำบุญบ้านเป็นการแสดงเคารพต่อพระประธานและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบ้าน รวมถึงเหล่าเทวดาและเจ้าที่ที่สถิตอยู่ โดยเชื่อว่าจะเพิ่มความสงบร่มเย็นให้แก่ผู้อยู่อาศัย ซึ่งหลาย ๆ คนอาจจะกังวลไม่รู้ว่าต้องเริ่มต้นจัดงานอย่างไรดี บทความนี้จะมาแนะนำ 7 ขั้นตอนที่ต้องเตรียมล่วงหน้าเพื่อการจัดงานทำบุญบ้านที่ราบรื่น
1. กำหนดวันและเวลาในการทำบุญบ้าน
เรื่องแรกของการจัดงานบุญบ้านคือการกำหนดวันและเวลา ซึ่งโดยทั่วไปก็คือฤกษ์ที่เจ้าของบ้านสะดวก อาจจะเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ที่เจ้าของบ้านและญาติมิตรสามารถเดินทางมารวมตัวกันได้ บางที่ก็ดูปฏิทินประกอบแล้วเลือกวันที่ตรงกับวันธงชัย หรือวันดีที่มีฤกษ์เหมาะสมกับการเริ่มสิ่งดี ๆ ส่งเสริมให้มีความสุข ความสำเร็จมากขึ้น นอกจากนี้บางตำราโบราณก็มีความเชื่อว่าไม่ควรทำในวันเสาร์ เพราะเชื่อกันว่าเป็นวันแห่งโทษทุกข์ แต่ก็อาจอนุโลมได้ตามฤกษ์ยามที่อาจตรวจสอบอย่างละเอียดมากขึ้นตามฤกษ์เกิดของเจ้าบ้าน
ช่วงเวลาการทำบุญบ้านสามารถเลือกได้สองเวลา ว่าจะถวายภัตตาหารเช้าหรือเพล โดยถ้าเป็นการถวายภัตตาหารเช้าให้เริ่มพิธีเวลาประมาณ 7.30 น. หรือหากเลือกถวายภัตตาหารเพลก็ควรเริ่มพิธีเวลาประมาณ 10.30 น. อย่างไรก็ตามเวลาอาจยืดหยุ่นตามความสะดวกของผู้ที่มาร่วมงานหรือตามศาสนกิจของพระสงฆ์ที่วัดที่เราต้องทำการนิมนต์ด้วย
2. เตรียมนิมนต์พระสงฆ์
การนิมนต์พระสงฆ์ควรทำล่วงหน้าอย่างน้อยหนึ่งเดือน เพราะพระสงฆ์อาจติดกิจนิมนต์อื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันสุดสัปดาห์หรือในวันที่มีฤกษ์มงคลพิเศษต่าง ๆ นอกจากนี้หากทางเจ้าภาพต้องการยืมอุปกรณ์ที่ใช้ในงานกับทางวัดเช่น อาสนะ ภาชนะใส่น้ำมนต์ หรืออุปกรณ์ในการประกอบอาหาร และถ้วยชามต่าง ๆ จะต้องมีการจองและจัดเตรียมล่วงหน้าเพื่อที่จะมั่นใจได้ว่าจะได้อุปกรณ์ครบถ้วนตามความต้องการของเจ้าภาพ นอกจากนี้ควรแจ้งผู้ประสานงานของวัดถึงรายละเอียดของงานและแจ้งความจำนงว่าต้องการนิมนต์พระสงฆ์เป็นจำนวนกี่รูป ซึ่งงานทำบุญบ้านจะนิมนต์พระเป็นเลขคี่ คือ 3 รูป 5 รูป หรือ 9 รูป พร้อมทั้งแจ้งเวลาที่จะจัดงานว่าจะจัดงานในเวลาเช้าหรือเพลให้ชัดเจน
นอกจากนี้ควรบอกรายละเอียดในเรื่องของการเดินทางของพระสงฆ์ว่าจะมีรถมารับพระที่วัด หรือต้องให้พระสงฆ์เดินทางไปเอง หากเจ้าภาพจัดรถไปรับพระควรกำหนดเวลานัดหมายให้ชัดเจนเพื่อพาพระสงฆ์ไปถึงงานได้ตรงเวลา ในกรณีที่ให้พระเดินทางมาเองก็ควรจะเตรียมปัจจัยเพื่อถวายเป็นค่าเดินทางไว้ด้วย การนิมนต์พระจากวัดที่ใกล้กับสถานที่จัดงานก็จะทำให้เดินทางสะดวกและลดความเหนื่อยล้าจากการเดินทางของพระสงฆ์ได้เป็นอย่างดี
รับจัดงานทำบุญบ้าน
3minutesfood เป็นผู้ให้บริการรับจัดงานทำบุญบ้านครบวงจร พร้อมที่จะอิ่มบุญและเป็นสิริมงคลให้กับคนในครอบครัว เริ่มต้นสิ่งดีๆกับเราวันนี้
3. เชิญแขกผู้มาร่วมงาน
ในการทำบุญขึ้นบ้านใหม่ผู้มาร่วมงานโดยส่วนใหญ่คือเครือญาติและผู้ใกล้ชิดของเจ้าของบ้าน ซึ่งก็ใช้หลักการเดียวกับการนิมนต์พระสงฆ์คือควรเชิญแขกผู้มาร่วมงานล่วงหน้า 1 เดือน เพราะโดยส่วนใหญ่ช่วงวันสุดสัปดาห์จะเป็นช่วงเวลาที่ใช้สำหรับการไปเที่ยวพักผ่อนหรือเยี่ยมครอบครัว โดยเจ้าภาพอาจส่งกำหนดการซึ่งประกอบด้วยวัน เวลาและสถานที่จัดงานให้แก่ผู้มาร่วมงานทุกคนทราบล่วงหน้าก่อนถึงกำหนดงานจริง ในกรณีที่เชิญแขกผู้ใหญ่อาจต้องคำนึงถึงความสะดวกในการเดินทางของแขกที่เป็นผู้ใหญ่ด้วย โดยอาจจัดรถไปรับหรือประสานงานกับญาติให้เดินทางมาร่วมงานพร้อมกันกับผู้ใหญ่ท่านดังกล่าว
4. จัดเตรียมสถานที่ให้พร้อม
ในการจัดสถานที่ให้พร้อมสำหรับการทำบุญบ้าน ควรจัดสถานที่ให้สะอาดและสบายตา มีพื้นที่เพียงพอในการรับรองพระสงฆ์และแขกเหรื่อตามจำนวนที่เชิญมา หากที่บ้านยังไม่มีอุปกรณ์ที่จำเป็นในการทำบุญบ้าน เช่น โต๊ะหมู่บูชา เชิงเทียน กระถางธูป พานรองสายสิญจน์ ขันน้ำมนต์ ที่กรวดน้ำ อาสนะ ตาลปัตร ชุดแป้งเจิม ทองคำเปลว หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ที่ใช้ในการรับรองพระสงฆ์ ก็สามารถแจ้งขอยืมจากวัดที่ทำการนิมนต์พระสงฆ์มาทำพิธี เพราะโดยส่วนใหญ่ที่วัดจะมีอุปกรณ์เหล่านี้อยู่แล้วแต่ควรแจ้งล่วงหน้ากับทางวัดเพื่อจองเอาไว้ก่อน
ในส่วนของโต๊ะหมู่บูชา ควรจัดไว้ตั้งทางขวามือของพระสงฆ์ ควรทำความสะอาดโต๊ะให้สะอาดหมดจดและจัดวางของบนโต๊ะให้สวยงามเพื่อใช้บูชาพระรัตนตรัย ของที่ใช้บนโต๊ะหมู่บูชาประกอบด้วย เชิงเทียน 1 คู่ กระถางธูป 1 อันและพานหรือแจกันดอกไม้สดที่มีกลิ่นหอม หรือจะใช้ดอกบัวก็ได้ เครื่องบูชาเหล่านี้ไม่ควรวางไว้เสมอหรือสูงกว่าพระพุทธรูป เชิงเทียนและกระถางธูปควรทำความสะอาดให้หมดจด มีการติดเทียนใหม่ 2 เล่มและปักธูปใหม่จำนวน 3 ดอกเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับพิธี ไม่ควรตั้งโต๊ะหมู่บูชาไว้ในบริเวณที่เป็นมุมอับ เช่นข้างห้องเก็บของ หรือห้องน้ำ และหลีกเลี่ยงการตั้งโต๊ะหมู่บูชาไว้ในบริเวณที่มีคนเดินผ่านไปมาเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการประกอบพิธี
นอกจากการจัดสถานที่รับรองพระสงฆ์แล้ว ควรจัดให้มีบริเวณที่นั่งให้เป็นสัดส่วนและสะดวกสบายสำหรับผู้มาร่วมงานทุกคน ที่นั่งของเจ้าภาพควรอยู่หน้าที่นั่งของพระสงฆ์โดยแยกเป็นสัดส่วนชัดเจนและไม่ควรอยู่สูงกว่าที่นั่งของพระสงฆ์ แต่หากจำเป็นต้องนั่งในบริเวณพื้นระดับเดียวกัน ให้ปูเสื่อหรือพรมบริเวณที่นั่งของพระสงฆ์และวางอาสนะสำหรับพระสงฆ์แต่ละรูปอีกครั้ง นอกจากนี้ควรมีการเตรียมเก้าอี้เป็นสัดส่วน สำหรับรับรองแขกผู้สูงอายุที่ไม่สามารถนั่งพับเพียบหรือคุกเข่าที่พื้นได้ โดยตั้งห่างออกไปจากที่พระสงฆ์นั่งหากพระสงฆ์นั่งที่พื้น และควรจัดให้มีมุมน้ำดื่มเพื่อรับรองแขกที่มาถึงและคำนึงถึงความเหมาะสมในการจัดที่ทิ้งขยะเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยสะอาดตา
5. เตรียมภัตตาหารสำหรับถวายพระสงฆ์
ในการเลือกภัตตาหารควรเลือกให้เหมาะสมกับเวลาที่จัดงาน หากจัดงานทำบุญบ้านตอนเช้าควรเลือกอาหารที่เหมาะสมกับมื้อเช้า เช่นข้าวต้ม ทั้งนี้ให้พิจารณาเลือกอาหารที่พระสงฆ์สามารถฉันได้ง่าย ไม่เลอะเทอะ และมีการจัดเตรียมให้พร้อมสำหรับรับประทาน ไม่ผิดข้อบังคับของศาสนา มีประโยชน์ต่อร่างกาย ไม่หวาน หรือมีรสจัดเกินไป เช่นเค็มจัด เผ็ดจัด อันอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยรวมของพระสงฆ์ในระยะยาวได้ นอกจากนี้ยังต้องเตรียมอาหารเพื่อบูชาพระพุทธหน้าโต๊ะหมู่บูชา และสักการะพระภูมิหรือเจ้าที่ประจำสถานที่แห่งนั้น
ทางเจ้าภาพอาจจะเลือกประกอบอาหารเอง หรือสั่งจากธุรกิจจัดเลี้ยงแล้วนำมาจัดเพื่อถวายแด่พระสงฆ์ โดยคำนึงถึงความสะดวกและลักษณะของสถานที่เป็นสำคัญ หากทำบุญบ้านในบ้านที่มีครัวกว้างขวางและมีญาติพี่น้องที่สามารถมาช่วยจัดภัตตาหารต่าง ๆ ก็อาจเลือกการประกอบอาหารเอง แต่หากไม่มีผู้ที่มาช่วยจัดการด้านอาหารหรือพื้นที่ครัวเล็กการเลือกใช้บริการจากผู้ให้บริการจัดเลี้ยงก็ดูจะเป็นทางเลือกที่สะดวกวิธีหนึ่ง
สถานที่ฉันอาหารของพระสงฆ์ควรแยกเป็นสัดส่วน โดยจะนิยมการจัดอยู่สองแบบคือแบบที่พระสงฆ์นั่งรวมกันรับประทานอาหารเป็นวง ซึ่งหากพระสงฆ์มี 9 รูปคือจัดอาหารสองวง หรือจัดอาหารเป็นชุดเพื่อถวายพระสงฆ์แต่ละรูปแยกกัน ซึ่งจะเลือกอย่างไรก็จะขึ้นอยู่กับลักษณะของสถานที่ อุปกรณ์ของเจ้าภาพ และจำนวนพระสงฆ์ที่มาประกอบพิธี โดยบริเวณที่พระสงฆ์ฉันอาหารควรคำนึงถึงความสะอาด อากาศถ่ายเทสะดวก และมีพื้นที่ในการเข้าประเคนได้สะดวก หากพระสงฆ์นั่งฉันที่พื้น ผู้ประเคนควรคุกเข่าประเคนภัตตาหาร และหากพระสงฆ์นั่งฉันบนเก้าอี้ สามารถยืนประเคนได้ ควรเตรียมอุปกรณ์ในการฉันภัตตาหารสำหรับพระสงฆ์ให้ครบถ้วน และเตรียมกระดาษเช็ดมือและที่ทิ้งขยะให้อยู่ในบริเวณที่หยิบใช้ได้ง่ายเสมอเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่พระสงฆ์
6. เตรียมเครื่องจตุปัจจัยเครื่องไทยธรรม
เครื่องไทยธรรม คือ ของที่จัดเตรียมไว้เพื่อถวายแด่พระสงฆ์ โดยทั่วไปได้แก่ปัจจัย 4 หรือของอุปโภคบริโภคต่าง ๆ ซึ่งจะต้องจัดให้ครบจำนวนพระสงฆ์ที่นิมนต์มาที่บ้าน เพื่อถวายให้แด่พระสงฆ์หลังจากถวายภัตตาหารเสร็จแล้ว โดยปกติการเลือกเครื่องไทยธรรมที่ถวายแต่พระสงฆ์นิยมเลือกของที่มีคุณภาพดีแต่ไม่ขัดกับข้อบังคับของศาสนา สามารถแบ่งออกเป็นสามประเภท ดังนี้
- เครื่องอุปโภค คือของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวัน อาทิ ไฟฉาย ร่ม ผ้าไตรจีวร รองเท้า อุปกรณ์เครื่องเขียน ผ้าขนหนู อุปกรณ์ทำความสะอาดในชีวิตประจำวัน ในการเลือกถวายพระควรเลือกของที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน และใช้งานได้ยาวนาน
- เครื่องบริโภค ได้แก่อาหารที่เหมาะกับการถวายพระสงฆ์ ได้แก่ข้าวสาร อาหารแห้ง อาหารสำเร็จรูป น้ำดื่ม เครื่องดื่มพร้อมชง น้ำผลไม้ หรือผลไม้อบแห้ง ในการเลือกอาหารควรคำนึงถึงคุณภาพและคุณค่าทางโภชนาการเป็นสำคัญ และวันหมดอายุควรมีไม่ต่ำกว่า 6 เดือน หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำตาลสูง หรือมีรสชาติเค็มจัด เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพของพระสงฆ์ในระยะยาว
- ยารักษาโรค เป็นปัจจัยที่ควรถวายพระสงฆ์เป็นอย่างยิ่ง โดยยาที่ควรถวายควรเลือกถวายยาสามัญประจำบ้านต่าง ๆ เช่น ยาแก้ปวดศีรษะ ยาแก้ไอหรือบรรเทาอาการเจ็บคอ ยาแก้ท้องอืดท้องเฟ้อและ ยาฆ่าเชื้อ ทั้งนี้ควรเลือกยาที่มีคุณภาพผ่านมาตรฐานการรับรองจากองค์การอาหารและยาอย่างถูกต้อง และที่สำคัญวันหมดอายุต้องไม่ต่ำกว่า 6 เดือน
7. เตรียมอุปกรณ์การเจิมและการประพรมน้ำมนต์
ในงานทำบุญบ้านมักจะมีการเจิมและประพรมน้ำพระพุทธมนต์บริเวณประตูหน้าบ้านและห้องต่าง ๆ เป็นขั้นตอนสุดท้ายสุดของพิธี ในส่วนของการทำน้ำมนต์ควรเตรียมภาชนะ เช่นขันหรือบาตรมีเชิง ภายในใส่น้ำสะอาด และติดเทียนบริเวณฝา สำหรับเทียนทำน้ำพระพุทธมนต์ควรเตรียมเทียนขี้ผึ้งแท้ น้ำหนัก ๑ บาท และอาจหาสิ่งของที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ของมงคลเช่นใบเงิน ใบทอง ใบนาก หรือดอกบัวใส่ลงไปในภาชนะนั้นแล้ววางไว้เบื้องหน้าประธานสงฆ์เพื่อทำน้ำมนต์ระหว่างการเจริญพระพุทธมนต์ เมื่อเสร็จพิธีทำบุญแล้ว เจ้าภาพฝ่ายชายจะถือขันน้ำมนต์นำพระสงฆ์ไปตามห้องต่างๆ เพื่อให้พระสงฆ์ทำการประพรมน้ำมนต์ และปิดท้ายที่การเจิมประตูหน้าบ้านด้วยแป้งเจิม โดยต้องเตรียมอุปกรณ์ที่ประกอบไปด้วยแป้งเจิมหรือดินสอพอง หรือหากมีแผ่นทองคำเปลวสำหรับติดที่ประตูหน้าบ้านก็ควรมีตลับขี้ผึ้งสำหรับติดแผ่นทองไม่ให้หลุดง่ายด้วย
จบบทความนี้คงจะเห็นได้ว่า การเตรียมงานทำบุญบ้านไม่ยากอย่างที่คิดเลย และในวันทำบุญบ้านใหม่ เจ้าของบ้านอาจขอคำแนะนำเรื่องลำดับพิธีการ บทสวดมนต์หรือบทถวายสังฆทานต่าง ๆ จากมัคนายกอีกครั้ง เพื่อให้การทำบุญเป็นไปอย่างราบรื่น และสิ่งที่สำคัญที่ควรทำก็คือทำจิตใจให้แจ่มใส เบิกบาน น้อมจิตอันเป็นกุศลเพื่อให้การทำบุญบ้านใหม่นำมาซึ่งความเป็นสิริมงคลในชีวิตนั่นเอง