สำหรับชาวพุทธการทำบุญเลี้ยงพระถือเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ และสามารถทำได้หลากหลายโอกาส เช่นทำบุญขึ้นบ้านใหม่ งานแต่งงาน งานบวช บ่อยครั้งเจ้าภาพก็ต้องจัดเลี้ยงพระที่บ้าน ซึ่งเจ้าภาพหลายคนมีความกังวลว่าการจัดเลี้ยงพระที่บ้านจะเกิดข้อผิดพลาดเพราะสถานที่และอุปกรณ์ไม่ครบครันเหมือนที่วัด แต่บทความนี้จะมาแนะนำเทคนิค 9 ข้อในการเตรียมสถานที่จัดเลี้ยงพระที่บ้านแบบง่าย ๆ ไม่ต้องกลัวผิดพลาด
1. หาที่ตั้งโต๊ะหมู่บูชาให้เหมาะสม
สิ่งสำคัญที่สุดในการจัดเลี้ยงพระที่บ้านคือการกำหนดตำแหน่งของโต๊ะหมู่บูชา ซึ่งตั้งเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป พร้อมทั้งเครื่องบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคล โดยถือคติว่ามีพระพุทธเจ้าเสด็จมาเป็นประธานสงฆ์ในพิธีบำเพ็ญกุศล ในงานพิธีมงคลทั่วไปนิยมใช้พระพุทธรูปปางสมาธิตั้งบนโต๊ะหมู่บูชา ไม่นิยมใช้ปางประทับยืนหรือปางไสยาสน์ แต่ถ้าเป็นงานพิธีทำบุญวันเกิดหรือทำบุญอายุของสมาชิกในบ้าน จะนิยมใช้พระพุทธรูปปางประจำวันเกิดของเจ้าของงาน
โต๊ะหมู่บูชาควรตั้งทางขวามือของพระสงฆ์ หลีกเลี่ยงการตั้งโต๊ะหมู่บูชาไว้ในบริเวณที่มีการเดินผ่านไปผ่านมา หรือบริเวณที่เป็นมุมอับ เช่นข้างห้องเก็บของ หรือห้องน้ำ นอกจากนี้สิ่งที่นำมาตั้งบนโต๊ะหมู่บูชาควรครบองค์ประกอบ ซึ่งประกอบด้วย เชิงเทียน 1 คู่ กระถางธูป 1 อันและพานหรือแจกันดอกไม้สด ที่มีกลิ่นหอม โดยเครื่องบูชาเหล่านี้ไม่ควรวางไว้เสมอหรือสูงกว่าพระพุทธรูป เชิงเทียนและกระถางธูปควรสะอาดหมดจด มีการติดเทียนใหม่ 2 เล่มและปักธูปใหม่จำนวน 3 ดอกเรียงหน้ากระดานเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับพิธี
2. การเตรียมสถานที่รับรองพระสงฆ์
เมื่อมีการจัดเลี้ยงพระที่บ้าน จะต้องมีการจัดสถานที่และเครื่องรับรองพระสงฆ์ตามประเพณีนิยม โดยตั้งอาสนะสงฆ์ไว้ด้านซ้ายของโต๊ะหมู่บูชาและเป็นสัดส่วนแยกออกชัดเจนจากที่นั่งของผู้มาร่วมงาน โดยอาจวางพรมให้ครบจำนวนพระสงฆ์ก็ได้ นอกจากนี้ควรทำความสะอาดบริเวณสถานที่รับรองพระสงฆ์ให้เรียบร้อย สบายตาและหลีกเลี่ยงการจัดวางที่นั่งของพระสงฆ์ในที่พลุกพล่าน ติดกับประตูทางเข้าออกครัว หรือมีผู้เดินผ่านไปมาตลอดเวลา ควรระวังไม่ให้มีรูปภาพที่แขวนอยู่เหนือศีรษะที่อาจเกิดอุบัติเหตุหล่นลงมาบริเวณที่พระสงฆ์นั่งอยู่ได้
ในส่วนของเครื่องรับรองพระสงฆ์ สิ่งที่ต้องเตรียมจะประกอบด้วยน้ำร้อนหรือชาร้อน น้ำเย็น และภาชนะใส่น้ำดื่มถวายพระสงฆ์ สิ่งที่ขาดไม่ได้อีกอย่างหนึ่งคือกระโถน เนื่องจากพระสงฆ์เมื่อมาถึงสถานที่ทำพิธีจะไม่สามารถลุกเพื่อจะนำสิ่งที่ไม่ต้องการแล้วไปทิ้งได้สะดวก จึงต้องมีกระโถนวางไว้ที่หน้าพระสงฆ์แต่ละรูปโดยไม่ล้ำออกมาข้างนอกมากเกินไปและสามารถหยิบใช้ได้สะดวก โดยจะมีการประเคนเครื่องรับรองต่าง ๆ เมื่อพระสงฆ์มาถึงบ้านแล้ว
3. จัดสถานที่สำหรับเจ้าภาพหรือผู้มาร่วมงาน
นอกจากการจัดสถานที่รับรองพระสงฆ์แล้ว ควรจัดให้มีบริเวณที่นั่งสำหรับผู้มาร่วมงาน หรือผู้ที่มาช่วยงานให้เป็นสัดส่วนและมีพื้นที่กว้างขวางพอกับจำนวนแขกที่ได้รับเชิญมาร่วมงาน โดยจัดที่นั่งของเจ้าภาพไว้ข้างหน้าที่นั่งพระสงฆ์โดยแยกเป็นสัดส่วนชัดเจนและไม่ควรอยู่สูงกว่าที่นั่งของพระสงฆ์ แต่หากจำเป็นต้องนั่งในบริเวณพื้นระดับเดียวกัน ให้ปูเสื่อหรือพรมบริเวณที่นั่งของพระสงฆ์และวางอาสนะสำหรับพระสงฆ์แต่ละรูปอีกครั้งเพื่อให้บริเวณที่นั่งของพระสงฆ์อยู่สูงกว่าบริเวณที่นั่งของผู้มาร่วมงาน
นอกจากนี้ควรมีการเตรียมเก้าอี้เป็นสัดส่วน สำหรับรับรองแขกผู้สูงอายุที่ไม่สามารถนั่งพับเพียบหรือคุกเข่าที่พื้นได้ โดยตั้งห่างออกไปจากที่พระสงฆ์นั่ง ในบริเวณที่มีการจัดภัตตาหารหรือของถวายพระควรมีโต๊ะทำงานและที่นั่งเพื่อให้ผู้มาช่วยงาน เช่น แม่ครัว หรือพนักงานร้านอาหารทำงานสะดวกและควรจัดให้มีที่ทิ้งขยะอย่างทั่วถึงเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยสะอาดตา
4. เตรียมอุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดเลี้ยงพระ
สำหรับการจัดเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นในการจัดเลี้ยงพระที่มีอยู่หลายรายการ เช่น ที่กรวดน้ำ ธูป เทียน พานรองสายสิญจน์ ขันน้ำมนต์ อาสนะ ตาลปัตร ชุดแป้งเจิม ทองคำเปลว หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ที่ใช้ในการรับรองพระสงฆ์ วิธีการเตรียมการที่ง่ายที่สุดและประหยัดงบประมาณ คือการขอยืมจากวัดที่เราทำการนิมนต์พระสงฆ์มาทำพิธี เพราะโดยส่วนใหญ่ที่วัดจะมีอุปกรณ์เหล่านี้อยู่แล้ว เพียงดูรายการที่ต้องเตรียมเทียบกับสิ่งที่มีอยู่แล้วที่บ้าน เท่านี้ก็ทราบว่าเช็กลิสต์ของเราครบถ้วนหรือไม่ นอกจากนี้ในการรับจัดเลี้ยงพระ มักจะมีอาหารบางส่วนที่เหลืออยู่หลังจากถวายภัตตาหารและผู้ร่วมงานรับประทานอาหารร่วมกันเสร็จแล้ว เจ้าภาพ จึงควรเตรียมถุงพลาสติกและอุปกรณ์ในการใส่อาหารเช่นถุงร้อน ยางวงรัดของ เพื่อเตรียมอาหารเพื่อมอบให้แขกผู้มาร่วมงาน หรือผู้ที่มาช่วยงานกลับไปรับประทานอีกด้วย
5. เตรียมการใช้สายสิญจน์
การเตรียมการใช้สายสิญจน์ มีหลากหลายแบบโดยพิจารณาจากโอกาสการทำบุญ หากเป็นการทำบุญบ้านใหม่ ในการวงด้ายสายสิญจน์ ให้เริ่มตั้งแต่โต๊ะหมู่บูชาแล้ววงสายสิญจน์เวียนตามเข็มนาฬิกาแล้ววนรอบรั้วบ้าน ไปตามลำดับ ยกขึ้นสูงที่สุดเพื่อป้องกันการเดินข้ามหรือทำขาด หากบ้านมีขนาดใหญ่ให้วงเฉพาะรอบตัวบ้านก็ได้
แล้วจึงนำมาวงที่ฐานพระพุทธรูปจากนั้นจึงโยงมาที่ภาชนะใส่น้ำมนต์แล้ววางกลุ่มด้ายสายสิญจน์ไว้ในพานด้านซ้ายของโต๊ะหมู่บูชา หากเป็นพิธีทำบุญที่มีการทอดบังสุกุลหรือเชิญโกศบรรพบุรุษมาด้วย เมื่อพิจารณาบังสุกุลให้ใช้ด้ายสายสิญจน์อีกกลุ่มหนึ่งที่แยกจากการใช้สวดมนต์เชื่อมโยงจากโกศอัฐิ รายนามหรือรูปของบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วได้ นอกจากนี้ควรเตรียมพานรองสายสิญจน์ไว้ท้ายอาสนะของพระสงฆ์ด้วย
6. จัดที่ฉันภัตตาหารและอาหาร
ในการจัดเลี้ยงพระ เจ้าภาพอาจจะประกอบอาหารเองหรือจ้างผู้ให้บริการมาจัดอาหารในการเลี้ยงพระ แต่ต้องคำนึงถึงปริมาณที่เพียงพอต่อจำนวนพระสงฆ์ และแขกที่จะมาร่วมงาน สถานที่ฉันอาหารของพระสงฆ์ควรแยกเป็นสัดส่วน โดยจะนิยมการจัดอยู่สองแบบคือ แบบที่พระสงฆ์นั่งรวมกันรับประทานอาหารเป็นวง และแบบโตกคือนำอาหารที่จัดเป็นชุดมาถวายพระสงฆ์แต่ละรูป ซึ่งก็จะขึ้นอยู่กับลักษณะของสถานที่ อุปกรณ์ของเจ้าภาพ และจำนวนพระสงฆ์ที่มาประกอบพิธี โดยบริเวณที่ฉันอาหารควรต้องคำนึงถึงความสะอาด อากาศถ่ายเทสะดวก ไม่ร้อน และมีพื้นที่ในการลำเลียงอาหารออกจากครัว ตลอดจนมีพื้นที่ให้เข้าประเคนได้สะดวก และควรจัดให้มีอุปกรณ์ในการรับประทานครบถ้วนเช่น ช้อน ส้อม ช้อนกลาง เตรียมกระดาษเช็ดมือและที่ทิ้งขยะอยู่ในบริเวณที่หยิบใช้ได้ง่าย
อาหารที่จะนำมาจัดเลี้ยงพระ ควรเลือกอาหารที่สามารถฉันสะดวก มีการจัดเตรียมให้พร้อมสำหรับรับประทาน ไม่ผิดข้อบังคับของศาสนา มีประโยชน์ต่อร่างกาย ไม่หวาน หรือมันจัดเกินไปอันอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยรวมของพระสงฆ์ได้ นอกจากนี้ยังต้องเตรียมอาหารเพื่อบูชาพระพุทธหน้าโต๊ะหมู่บูชา รวมถึงอาหารถวายพระภูมิเจ้าที่ ทั้งนี้ควรตักแยกส่วนที่จะถวายพระออกมาก่อนเป็นอันดับแรก หากพระสงฆ์นั่งฉันที่พื้น ผู้ประเคนควรคุกเข่าประเคนภัตตาหาร และหากพระสงฆ์นั่งฉันบนเก้าอี้ สามารถยืนประเคนได้
7. จัดเตรียมที่วางเครื่องปัจจัยไทยธรรม
เครื่องจตุปัจจัยเครื่องไทยธรรม คือ ของที่จัดเตรียมไว้เพื่อถวายแด่พระสงฆ์ โดยทั่วไปได้แก่ปัจจัย 4 หรือของอุปโภคบริโภคต่าง ๆ ซึ่งจะต้องจัดให้ครบจำนวนพระสงฆ์ที่นิมนต์มาที่บ้าน ทางเจ้าภาพควรต้องจัดเตรียมที่วางปัจจัยไทยธรรมไว้บนโต๊ะที่เป็นสัดส่วนเพื่อหลีกเลี่ยงการเดินข้ามไปมา หรือบริเวณที่อาจเกิดความเกิดความสกปรกเสียหาย และก่อนถวายเครื่องไทยธรรมควรดูแลความสะอาดบริเวณที่จัดประเคนให้เรียบร้อย ไม่ให้มีเศษอาหารหรือเปียกน้ำ จากนั้นจึงยกเครื่องไทยธรรมมาวางเรียงให้เป็นระเบียบเบื้องหน้าพระสงฆ์
หากมีการถวายดอกไม้ ธูปเทียนแก่พระสงฆ์ให้วางดอกไม้หันเข้าหาพระสงฆ์ เพื่อแสดงความเคารพระหว่างการถวายเครื่องไทยธรรม ระหว่างเชิญประธานในพิธีและผู้มีเกียรติประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมผู้ประเคนควรนำของประเคนเข้าไปให้ใกล้พระผู้รับประเคนประมาณ 1 ศอก ดังนั้นเจ้าภาพควรดูแลความสะอาดและความกว้างของพื้นที่ให้เหมาะสมเพื่อที่จะจัดการประเคนได้สะดวก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีผู้มาร่วมงานเป็นจำนวนมาก
8. จัดเตรียมเครื่องขยายเสียง
ในการจัดเลี้ยงพระ หากมีผู้ร่วมงานเป็นจำนวนมากควรมีเครื่องขยายเสียง เพื่อให้ผู้มางานทราบถึงลำดับพิธีการและร่วมน้อมจิตอันเป็นกุศลระหว่างพิธีต่าง ๆ ในการจัดเตรียมเครื่องขยายเสียงควรคำนึงถึงจำนวนผู้มาร่วมงานเป็นสำคัญ หากเป็นงานขนาดเล็กอาจใช้เพียงลำโพงและไมโครโฟนเคลื่อนที่เพียง 1 ตัวสำหรับมัคนายก และหากเป็นงานใหญ่หรือบ้านที่จัดงานมีบริเวณกว้างอาจจะต้องมีทีมงานจัดการเรื่องเครื่องเสียงโดยเฉพาะ ในการจัดเครื่องเสียงนั้น อย่างน้อยควรมีไมโครโฟนสำหรับประธานสงฆ์ 1 ชุดและผู้นำพิธีหรือมัคนายกอีก 1 ชุด และหากจำเป็นอาจจัดเพิ่มสำหรับพระสงฆ์อีก 1 ชุด
9. เตรียมความพร้อมด้านพิธีการ
เมื่อเตรียมสถานที่จัดงานเสร็จเรียบร้อยก็ควรร่างกำหนดการคร่าว ๆ ของพิธีดังกล่าวไว้ด้วยเนื่องจากบางงานจะมีเรื่องของเวลา หรือฤกษ์ยามเข้ามาเกี่ยวข้อง ผู้จัดงานจึงควรกำหนดเวลาเริ่มและจบขั้นตอนของพิธีการต่าง ๆ เอาไว้เพื่อไม่ใช้เสียฤกษ์ โดยจุดใหญ่ ๆ ที่จะต้องเตรียมก็คือ เวลาเริ่มพิธี เวลาที่พระสงฆ์และประธานในพิธีมาถึง เวลาฤกษ์ในพิธี เช่น เวลาหมั้นในงานจัดเลี้ยงพระในงานแต่งงาน เวลาที่พระสงฆ์ฉันอาหาร เวลาถวายเครื่องไทยธรรมและเวลาจบพิธี และควรมีแม่งานที่ดูแลความเรียบร้อยให้ทุกอย่างดำเนินไปตามเวลา
นอกจากนี้ผู้ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่องานจัดเลี้ยงพระคือมัคนายก เพราะเป็นผู้ที่จะช่วยนำพิธีและนำสวดมนต์บทต่าง ๆ ให้เป็นไปอย่างถูกต้อง โดยเจ้าภาพอาจขอความช่วยเหลือจากผู้ที่มีประสบการณ์มาเป็นมัคนายกในพิธี หรืออาจจ้างออแกไนเซอร์สำหรับงานทำบุญโดยเฉพาะ โดยบทสวดต่าง ๆ ที่ใช้ในงานจัดเลี้ยงพระจะหาได้ตามหนังสือเกี่ยวกับบทสวดมนต์หรือแนวทางปฏิบัติในศาสนพิธีทั่วไป ซึ่งเจ้าภาพอาจซื้อมาศึกษาแล้วนำมาปรับใช้กับงานของตนเองได้
เมื่อจบบทความนี้จะเห็นว่าการจัดสถานที่เลี้ยงพระที่บ้านเป็นเรื่องที่ทุกคนทำได้และไม่ยุ่งยากอย่างที่คิด เพียงแค่วางแผนการใช้สถานที่ให้เหมาะสมกับจำนวนแขกและจำนวนพระสงฆ์ที่มาร่วมงาน และเน้นความเป็นระเบียบเรียบร้อยและสะอาดตาก็สามารถ จัดการทุกอย่างได้อย่างง่ายดาย การจัดเลี้ยงพระที่บ้านเจ้าภาพสามารถทำเองในหมู่ญาติพี่น้อง เพื่อเป็นการเพิ่มความสามัคคีกลมเกลียวในหมู่ญาติ หรืออาจเลือกใช้บริการจากผู้ที่ทำธุรกิจในด้านงานจัดเลี้ยงทำบุญต่างๆ ก็ถือว่าเป็นตัวเลือกที่เพิ่มความสะดวกสบายให้เจ้าภาพได้ดียิ่ง