8 สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการจัดเลี้ยงพระนอกสถานที่อย่างสบายใจ

จัดเลี้ยงพระนอกสถานที่ 2

การทำบุญเลี้ยงพระถือเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในคติชาวพุทธ สามารถทำได้หลากหลายโอกาส ไม่ว่าจะเป็นทำบุญบริษัท หรือทำบุญวันเกิด ในปัจจุบันนิยมการจัดเลี้ยงพระนอกสถานที่ เพราะสามารถเลือกสถานที่ที่เหมาะสมที่จะรับรองแขกที่มาในงานได้เป็นจำนวนมาก และอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าภาพในเตรียมการไม่ต้องจัดระเบียบภายในบ้าน บทความนี้จะนำเสนอ 8 ข้อที่ควรคำนึงถึงในการจัดเลี้ยงพระนอกสถานที่ เพื่อให้งานราบรื่น ปราศจากความกังวลใจ

1. เลือกสถานที่ให้เหมาะสมในการจัดเลี้ยงพระนอกสถานที่ 

สิ่งสำคัญที่สุดในการรับจัดเลี้ยงพระนอกสถานที่คือการเลือกสถานที่ให้เหมาะสมกับโอกาสที่ทำบุญ หากเป็นงานทำบุญอุทิศส่วนกุศลประจำปีแก่บรรพบุรุษก็อาจเลือกจัดที่วัดใกล้บ้าน โดยบางวัดจะมีบริการให้เช่าศาลาและมีเจ้าหน้าที่บริการทำความสะอาดหรือช่วยดูแลความเรียบร้อยระหว่างพิธีกรรมให้ด้วย หากเป็นงานแต่งงานอาจจะเลือกจัดที่โรงแรม เพราะมักจะมีบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับงานให้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการดูแลเรื่องอุปกรณ์และภาชนะในการรับรองพระสงฆ์หรือแขกที่มาร่วมงาน ตลอดจนสิ่งของที่ต้องใช้ในงานพิธี

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่ควรคำนึงถึงในการเลือกสถานที่คือ เลือกให้มีพื้นที่ที่เหมาะสมในการรับรองพระสงฆ์ ทั้งที่ฉันภัตตาหาร ที่นั่งเจริญพระพุทธมนต์ และมีความกว้างขวางเหมาะสมกับจำนวนแขกที่เชิญมาร่วมงาน หากเชิญแขกจำนวนมาก ก็อาจจะต้องเลือกสถานที่ที่มีขนาดใหญ่ และมีที่จอดรถเพียงพอ ทั้งนี้ควรคำนึงถึงระยะเวลาในการเดินทางไปยังสถานที่นั้น ๆ ของฝั่งเจ้าภาพ พระสงฆ์และแขกคนสำคัญ เพื่อความสะดวกในการจัดการการเดินทางของทุกฝ่ายอีกด้วย 

2. เตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นในการจัดเลี้ยงพระ

สำหรับการจัดเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นในการจัดเลี้ยงพระที่มีอยู่หลายรายการ เช่น โต๊ะหมู่บูชา ที่กรวดน้ำ ธูป เทียน พานรองสายสิญจน์ ขันน้ำหรืออุปกรณ์อื่น ๆ ที่ใช้ในการรับรองพระสงฆ์ เช่นแก้วน้ำ ถ้วยน้ำร้อน กระโถน ควรตรวจสอบกับสถานที่ที่เราเลือกเอาไว้ว่ามีอุปกรณ์เหล่านี้เอาไว้ให้แล้วหรือไม่ เพื่อที่จะเตรียมการล่วงหน้าได้อย่างไม่ฉุกละหุก โดยทั่วไปหากจัดเลี้ยงพระที่วัด ก็จะมีอุปกรณ์สำหรับบูชาพระพื้นฐานเอาไว้อยู่แล้ว แต่เจ้าภาพอาจจะต้องพึ่งพาบริการด้านการจัดอาหารเลี้ยงพระ รวมถึงภาชนะสำหรับฉันภัตตาหารและจาน ชามสำหรับรับประทานอาหารของแขกที่มาในงานจากผู้ให้บริการรายอื่น เพียงตรวจสอบรายการที่ต้องเตรียมเทียบกับสิ่งที่มีอยู่แล้ว เท่านี้ก็ทราบว่าเรามีอุปกรณ์ครบถ้วนหรือไม่

3. เตรียมจัดโต๊ะหมู่บูชาให้สวยงาม

โต๊ะหมู่บูชาถือว่าเป็นสิ่งสำคัญในงานเลี้ยงพระ เพราะยึดคติว่าอัญเชิญพระพุทธเจ้าเป็นประธานในพิธีด้วย ในการจัดโต๊ะหมู่บูชา ให้เจ้าภาพประดิษฐานพระพุทธรูปปางสมาธิไว้ที่โต๊ะหมู่ตัวสูงสุด การจัดเครื่องบูชาจะเน้นความสะอาดเรียบร้อยสวยงามขององค์ประกอบบนโต๊ะหมู่บูชา จะมีเครื่องบูชาต่าง ๆ มากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของสถานที่หรือฐานะของเจ้าภาพ โดยเครื่องสักการบูชาหลัก  ที่มักใช้บนโต๊ะหมู่บูชาจะมี 3 ประการคือ

  • ธูป ใช้ 3 ดอก ปักเรียงกันเป็นหน้ากระดานในลักษณะตั้งตรงไว้ในกระถางธูปตามความเชื่อที่มีมาแต่โบราณว่า ควันเป็นสิ่งที่เบาลอยสู่อากาศเบื้องบนแล้วจางหายไป เพื่อนำไปสู่สิ่งที่เจ้าภาพและแขกในงานนับถือหรือเคารพบูชาได้
  • เทียน ใช้ 2 เล่ม ติดบนเชิงเทียนที่สะอาด ตั้งไว้ที่โต๊ะหมู่บูชาตัวเดียวกับกระถางธูป ทั้งทางด้านซ้ายและด้านขวา เป็นสัญลักษณ์ของความสว่างไสว
  • ดอกไม้ สามารถจัดเป็นแจกันหรือพานพุ่ม ไม่น้อยกว่า 2 แจกัน โดยทั่วไปดอกไม้ที่ใช้จัดบนโต๊ะหมู่บูชานิยมใช้ดอกบัว หรือดอกไม้ที่มีสีสันสวยงาม และมีกลิ่นหอม

หากมีการจัดงานที่วัด ทางวัดมักจะมีเครื่องสักการบูชาเหล่านี้เตรียมไว้แล้ว แต่เจ้าภาพอาจจะเตรียมไปเพิ่มเติมหากต้องการดอกไม้สด หรือธูปที่มีความหอมพิเศษ หากไม่ได้จัดงานที่วัด สามารถสอบถามกับเจ้าของสถานที่ว่ามีบริการจัดโต๊ะหมู่บูชาให้หรือไม่ เพราะในบางที่เจ้าภาพสามารถเลือกแบบหรือสีของดอกไม้ที่ใช้เป็นเครื่องสักการบูชาได้ตามความพอใจ แต่หากเจ้าภาพต้องการประหยัดงบประมาณ ก็สามารถหาซื้อดอกไม้ที่ราคาไม่แพงนักจากตลาด เช่นดอกบัว ดอกกล้วยไม้ และมอบหมายหน้าที่จัดแจกันให้กับทีมงานที่มีฝีมือในการจัดดอกไม้ ก็จะช่วยส่งเสริมความสามัคคีในหมู่เจ้าภาพ และควบคุมงบประมาณไม่ให้บานปลายได้เป็นอย่างดี

4. ใส่ใจในการเลือก catering

ในการจัดเลี้ยงพระนอกสถานที่ เจ้าภาพส่วนใหญ่จะจ้าง catering มาจัดอาหารในการเลี้ยงพระ เพราะช่วยอำนวยความสะดวกได้เป็นอย่างดี สิ่งที่ควรคำนึงถึง ก็คือปริมาณอาหารที่เพียงพอต่อจำนวนพระสงฆ์ และแขกที่จะมาร่วมงาน และควรจัดรายการอาหารให้เหมาะสมกับช่วงเวลาจัดงาน ไม่ผิดข้อบังคับของศาสนา เหมาะกับทุกช่วงอายุของแขกที่มาร่วมงาน หากมีแขกผู้ใหญ่ก็ควรเลือกอาหารที่รับประทานง่าย ย่อยง่าย และรสไม่จัดจนเกินไป เช่นเนื้อปลา เน้นอาหารที่ปรุงสุก สดใหม่ และควรต้องมีสำรองไว้จำนวนหนึ่ง ไม่สั่งมาน้อยจนเกินไป โดยเฉพาะในส่วนของเครื่องดื่มและน้ำแข็ง โดยเฉพาะในวันที่อากาศร้อน เครื่องดื่มและน้ำแข็งจะเป็นสิ่งที่หมดอย่างรวดเร็ว 

นอกจากการเลือกผู้ให้บริการที่ดีและเมนูที่เหมาะสมแล้วเจ้าภาพก็ควรที่จะจัดสรรอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการปรุงอาหารถ้าจำเป็น เช่น จัดเตรียมหม้อ กระทะ ตะหลิว มีด หรืออุปกรณ์ทำครัวต่างๆ โดยประสานงานกับสถานที่และผู้ให้บริการด้านอาหารว่าใครมีหน้าที่ต้องเตรียมอุปกรณ์เหล่านี้ เพื่อหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ไม่คาดฝัน นอกจากนี้ควรดูแลบริเวณที่ฉันอาหารของพระสงฆ์ให้มีความสะอาดเรียบร้อย และมีอุปกรณ์การรับประทานอย่างครบครัน และมอบหมายหน้าที่สำหรับผู้ที่ให้การดูแลพระสงฆ์ขณะฉันอาหารอีกด้วย

5. เลือกเครื่องไทยธรรมถวายพระให้เหมาะสม

ในการจัดเลี้ยงพระ เจ้าภาพจะต้องเตรียมเครื่องไทยธรรม หรือ ของอุปโภคบริโภคต่าง ๆ ที่จัดเตรียมไว้เพื่อถวายแด่พระสงฆ์เมื่อเสร็จพิธี โดยปกติการเลือกเครื่องไทยธรรมที่ถวายแต่พระสงฆ์นิยมเลือกของที่มีคุณภาพดี ไม่ขัดกับข้อบังคับของศาสนา เจ้าภาพสามารถเลือกเครื่องอุปโภค เช่น ไฟฉาย ร่ม ผ้าไตรจีวร เครื่องบริโภค ได้แก่ ข้าวสาร อาหารแห้ง

โดยคำนึงถึงคุณภาพและคุณค่าทางโภชนาการเป็นสำคัญ และยารักษาโรค เช่นยาสามัญประจำบ้านต่าง ๆ เช่นยาลดไข้ แก้ปวด ผงเกลือแร่สำหรับบรรเทาอาการท้องเสีย ยาดมและยาหม่อง มาจัดชุดเพื่อถวายแด่พระสงฆ์ โดยในปัจจุบันมีบริการจัดเครื่องไทยธรรมที่เจ้าภาพสามารถเลือกของที่จัดชุดสำเร็จมาแล้วไปถวายพระที่มาพร้อมบริการส่งนอกสถานที่ หรือเจ้าภาพอาจเลือกซื้อของแต่ละอย่างแล้วมาจัดด้วยตัวเองก็ขึ้นอยู่กับความสะดวก

โดยเน้นการเลือกของที่สามารถเก็บไว้ได้นาน และมีวันหมดอายุไม่ต่ำกว่า 6 เดือน หากเป็นยารักษาโรคก็ให้ตรวจสอบว่าได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยา นอกจากนี้เจ้าภาพอาจเตรียมดอกไม้ธูปเทียนมาถวายพร้อมเครื่องไทยธรรม โดยจัดเป็นชุด ๆ เพื่อความสะดวกในการถวายพระอีกด้วย

6. เตรียมนัดแนะวันเวลาให้ถูกต้อง 

เนื่องจากการจัดเลี้ยงพระนอกสถานที่จำเป็นต้องมีการประสานงานหลายฝ่าย เช่น พระสงฆ์ ฝ่ายสถานที่ ผู้ให้บริการจัดเลี้ยง และแขกที่มาในงาน เจ้าภาพจึงควรดูแลให้มีการประสานงานเรื่องเวลาและสถานที่ให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดระหว่างทีมงาน นอกจากนี้ควรแจ้งผู้ประสานงานของวัดถึงรายละเอียดของงานและแจ้งความจำนงว่าต้องการนิมนต์พระสงฆ์เป็นจำนวนกี่รูป

โดยขึ้นอยู่กับลักษณะงาน หากเป็นงานบุญทั่วไปก็มักจะนิมนต์พระสงฆ์เป็นเลขคี่ เช่น 9 รูป พร้อมทั้งแจ้งเวลาที่จะจัดงานว่าจะจัดงานในเวลาเช้าหรือเพลให้ชัดเจน ในเรื่องของการเดินทางควรบอกรายละเอียดต่อพระสงฆ์ว่าจะต้องให้พระสงฆ์เดินทางไปเอง หรือมีการจัดรถมารับที่วัดในกรณีที่ไม่ได้จัดงานที่วัด หากเจ้าภาพจัดรถไปรับพระควรกำหนดเวลานัดหมายให้ชัดเจนเพื่อพาพระสงฆ์ไปถึงงานได้ตรงเวลา และควรจะเตรียมปัจจัยเพื่อถวายเป็นค่าเดินทางไว้ด้วยหากจำเป็นต้องให้พระสงฆ์เดินทางมาเอง 

7. เตรียมความพร้อมด้านเวลาของพิธีการ 

ในการจัดเลี้ยงพระนอกสถานที่เจ้าภาพควรร่างกำหนดการคร่าว ๆ ของพิธีเอาไว้ เนื่องจากบางงานจะมีเรื่องของเวลา หรือฤกษ์ยามเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่นงานจัดเลี้ยงพระในงานหมั้น หรืองานมงคลสมรส หรือแม้กระทั่งการประสานงานเรื่องสถานที่บางแห่งก็กำหนดเวลาเข้าออกของการจัดงานอย่างมีแบบแผน และเกี่ยวเนื่องกับงบประมาณหากต้องมีการเช่าสถานที่ ผู้จัดงานจึงควรกำหนดเวลาเริ่มและจบขั้นตอนของพิธีการต่าง ๆ เอาไว้เพื่อไม่ใช้เสียฤกษ์

โดยสิ่งสำคัญก็คือ เวลาเริ่มพิธี เวลาที่พระสงฆ์และประธานในพิธีมาถึง และเวลาฤกษ์ในพิธี เช่น เวลาหมั้น ควรหามัคนายกหรือแม่งานที่มีประสบการณ์ในการจัดการมาดูแลความเรียบร้อยให้ทุกอย่างดำเนินไปตามเวลา นอกจากนี้การเลือกมัคนายกที่มีประสบการณ์จะทำให้งานจัดเลี้ยงพระเป็นไปได้อย่างราบรื่น เพราะมีผู้คอยให้คำแนะนำต่อเจ้าภาพในเรื่องของขั้นตอน พิธีการและการนำสวดมนต์บทต่าง ๆ เจ้าภาพอาจจ้างออแกไนเซอร์สำหรับงานทำบุญเลี้ยงพระโดยเฉพาะเพื่อความสะดวก แต่หากต้องการประหยัดงบประมาณก็สามารถหาบทสวดต่าง ๆ ที่ใช้ในงานจัดเลี้ยงพระได้ตามหนังสือเกี่ยวกับบทสวดมนต์หรือแนวทางปฏิบัติในศาสนพิธีทั่วไป อาจซื้อมาศึกษาแล้วนำมาปรับใช้ได้ด้วยตัวเอง  

8. จัดสรรหน้าที่ให้คนที่มาช่วยงาน

การจัดเลี้ยงพระอาจจะจัดขึ้นเองเป็นการส่วนตัว เชิญแขกที่เป็นคนภายในครอบครัว หรือเป็นงานของบริษัทที่ต้องเกี่ยวข้องกับบุคคลภายนอกหลาย ๆ ส่วน แต่สิ่งสำคัญที่จะทำให้งานราบรื่นก็คือ การจัดสรรทรัพยากรของเจ้าของงานหรือแม่งาน โดยคำนึงความถนัดของทีมงาน จะทำให้การทำงานสำเร็จลุล่วงอย่างราบรื่น เพราะบางครั้งการรวมงานทุกอย่างเอาไว้ที่คนเดียวอาจจะทำให้เกิดความล่าช้าหรือข้อผิดพลาด  ควรจัดสรรให้ทีมงานแต่ละคนทำหน้าที่ที่แตกต่างกันออกไป เช่นให้คนที่มีความชำนาญเรื่องการจัดสถานที่ไปเลือกสถานที่ หรือประสานงานด้านความพร้อมของสถานที่ หรือคนที่ชอบชิมอาหารใหม่ ๆ อาจจะส่งไปให้เลือกอาหาร ในเรื่องของพิธีกรรมก็อาจจะเลือกผู้ชายที่เคยใกล้ชิดกับงานด้านพิธี หรือคนที่เคยบวชมานาน ๆ มาดูแล เพียงเท่านี้งานก็จะเสร็จสมบูรณ์อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

จะเห็นว่าการจัดสถานที่เลี้ยงพระนอกสถานที่เป็นเรื่องที่ไม่น่ากังวลอย่างที่คิด เพียงแค่วางแผนด้านเวลา และการใช้สถานที่ให้เหมาะสมกับจำนวนแขกและจำนวนพระสงฆ์ที่มาร่วมงาน เน้นการเลือกผู้มีประสบการณ์ด้านการจัดเลี้ยงนอกสถานที่ก็สามารถจัดการทุกอย่างให้เรียบร้อยได้อย่างง่ายดาย สิ่งที่สำคัญที่เจ้าภาพควรคำนึงถึงคือการประสานงานและแบ่งขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานให้ครบถ้วนเพื่อความสบายใจว่าไม่มีปัญหาหน้างานแน่นอน

สอบถามรายละเอียดที่นี่